เสวนา มธบ.ติวเข้ม นศ.นิติฯ แนะ ทักษะ "นักกฎหมาย" ต้องมี ในยุคดิจิทัล

เสวนา มธบ.ติวเข้ม นศ.นิติฯ แนะ ทักษะ นักกฎหมาย ต้องมี ในยุคดิจิทัล

วงเสวนา มธบ.ติวเข้มนักศึกษา นิติ-รปศ. หวังปูทางแนวคิดอาชีพ “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต” กูรูด้านไอที แนะทักษะที่ “นักกฎหมาย” ต้องมีใน “ยุคดิจิทัล”

วันที่ 6 พ.ย. DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ปรีดีพนมยงค์ และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เปิดประสบการณ์ใหม่ให้นักศึกษากับคอนเซ็ปต์ Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด ตอน “ผู้กำหนดนโยบายแห่งอนาคต Future Policy Makers” เพื่อวิเคราะห์ทักษะที่นักกฎหมายควรมี ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

โดยมี ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มธบ. ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมการเสวนา

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ในอดีต การกำหนดนโยบายสาธารณะเป็นหน้าที่ของนักนโยบาย และนิติกร แต่การกำหนดนโยบายในอนาคตต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นนักกำหนดนโยบายต้องศึกษาบทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลกับพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะสม หากนักนโยบายไม่มีความรู้เรื่องดังกล่าว และออกแบบกฎหมายมาคุมทุกอย่าง จะส่งผลให้เทคโนโลยีที่อยู่ในมือมนุษย์ไม่เหมาะกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และหากไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มประสิทธิภาพ จะกลายเป็นปัญหาของประเทศแทน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีจะชะลอตัวหรือเร็วขึ้น นโยบายที่ถูกต้องควรออกในระยะที่เหมาะสมกับสังคมหรือบริบทนั้นๆ นักนโยบายในอนาคตจึงต้องมีศาสตร์การเข้าถึงประชาชนร่วมด้วย นี่เป็นสิ่งที่ต้องการสื่อสารให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์เข้าใจถึงทักษะดังกล่าว

"การศึกษาเทคโนโลยีที่มีบทบาทกับมนุษย์ จะทำให้เข้าใจการออกแบบและกำหนดนโยบายในอนาคตได้ โดยต้องใช้วิสัยทัศน์ของความเป็นผู้ประกอบการในการตัดสินใจและจัดการสิ่งนั้น ที่สำคัญยังสามารถก่อให้เกิดการออกแบบอย่างเหมาะสม ในยุคที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางหลักและเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้การออกแบบอย่างลงตัว ช่วยสร้างสังคมให้อยู่อย่างมีความสุข ดังนั้นนักศึกษาควรนำหลักคิดนี้สร้างความเข้าใจ เป็นสิ่งสำคัญฝึกฝน เพื่อเป็นผู้กำหนดนโยบายในอนาคต" ผู้อำนวยการ DPU X กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายในอนาคตจะต้องคำนึงถึง 2 เรื่องหลัก คือ 1.ต้องใช้ข้อมูลจากพฤติกรรมของคนมาใช้ประโยชน์ แทนที่การคิดตามคำสั่งหรือคิดตามกฎหมายที่ออกแบบจากบนลงล่าง

และ 2.ต้องคำนึงถึงความรู้สึกและอารมณ์ร่วมกันในการดำเนินนโยบายร่วมกับประชาชน ดังนั้นการกำหนดนโยบายในอนาคตจะต้องสร้างมาจากความรู้สึกและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ส่วนความเสี่ยงของผู้กำหนดนโยบายหากมองตามเทคโนโลยีจะมีความเสี่ยงสูง เมื่อดำเนินนโยบายจะรับความเสี่ยงเพียงผู้เดียว แต่ในอนาคตถ้าสังคมไว้ใจและมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายมากขึ้นความเสี่ยงจะลดลง ในอนาคตดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่นักกำหนดนโยบายต้องหาคำตอบ เมื่อมนุษย์เป็น Analog ส่วนโลกกลายเป็น Digital การเรียนตามทฤษฎีหรือแนวคิด อาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะช่วยกำหนดนโยบายในอนาคตได้ เพราะข้อมูลที่มากมายจะทำให้คนสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายกว่าการท่องจำ

“การเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ นักศึกษาจะเห็นมุมมองของการกำหนดนโยบายที่ไม่ได้มาจากนิติศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์อย่างเดียว แต่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีที่ถนัดในการออกแบบแพลตฟอร์ม ให้คนมีส่วนในการกำหนดนโยบายร่วมกัน ซึ่งในอนาคตถ้านำความรู้ไปปรับใช้จะช่วยออกแบบและนำไปสู่นโยบายในอนาคตได้” ผศ.ดร.ธานี กล่าว

ขณะที่ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มองว่า ในสมัยที่โลกยังไม่รู้จักเทคโนโลยี มีการแบ่งเขตปกครองอย่างชัดเจน การกำหนดนโยบายในยุคนั้นจะใช้นักกฎหมายหรือภาครัฐเป็นศูนย์กลางการออกกฎหมาย ซึ่งสามารถควบคุมได้ง่าย แต่ปัจจุบันเมื่อโลกเปลี่ยนไปรัฐบาลไม่สามารถควบคุมกำกับประชาชนได้ วิธีกำหนดนโยบายจึงต้องเปลี่ยนตาม เน้นกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับประชาชน โดยนำปัญหาของประชาชนมาตั้งเป็นศูนย์กลางในการออกแบบ ปัจจุบันเทคโนโลยีไปเร็วกว่ากฎหมาย

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่นักกฎหมายต้องมี Regulatory Sandbox หรือพื้นที่ทดลองนวัตกรรมใหม่ที่กฎหมายยังไปไม่ถึง ซึ่งเป็นคอนเซ็ปท์ที่นักกฎหมายต้องรู้ โดยหัวใจหลักคือการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ซึ่งสมัยก่อนลำดับการออกกฎหมายคือ ลงราชกิจจานุเบกษา ประกาศ บังคับใช้ แต่ปัจจุบันต้องใช้วิธีการทดสอบด้วยเทคโนโลยีเพิ่มเติม หรือการทำประชาพิจารณ์ เพื่อหาตัวชี้วัดกฎหมายที่ออกแบบสามารถควบคุมได้หรือไม่ หรือในทางเทคนิคคือการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและการตรวจสอบเนื้อหา (Regulation Impact Assessment-RIA) ก่อนออกกฎหมาย เมื่อเกิดพื้นที่การทดลองใช้กฎหมาย นักกำหนดนโยบายสามารถพัฒนาการออกกฎหมายที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ดีขึ้น

ดร.ชินาวุธ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่สังคมมีต้นทุน ที่จะตัดสินใจใช้เทคโนโลยี แต่ปัญหาอาจอยู่ที่ความเร็วและข้อจำกัด การเป็นนักกำหนดนโยบายในอนาคตไม่สามารถตัดสินใจได้เต็มร้อย จะนำข้อมูลมาตัดสินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องนำพฤติกรรมของมนุษย์มาวิเคราะห์ด้วย เพราะสิทธิของประชาชนมีความสำคัญมาก แต่จะทำอย่างไรให้ใช้ต้นทุนและโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ท้ายที่สุดต้องวิเคราะห์ตามประเด็นทั้งส่วนที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วย

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หน้าที่หลักของตน คือ ช่วยผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมายเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น มีความแม่นยำคำตอบที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในสังคม ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานด้านเทคโนโลยีกว่า 4 ปี ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างนักกำหนดนโยบายในอดีต ในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงนักเทคโนโลยีในอดีตด้วย ซึ่งหมายความว่า นักเทคโนโลยีในอดีต เน้นการกระตุ้นให้นักนโยบายเข้าใจว่าถึงเวลาที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยกำหนดนโยบาย เพื่อลดการออกนโยบายบนความกลัว และชี้ให้เห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงตรรกะพื้นฐานของสังคม และโครงสร้างทางสังคม ถ้าผู้ออกแบบนโยบายไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นโยบายจะเข้ากันไม่ได้กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นถ้านักออกแบบไม่เข้าใจธรรมชาติของข้อเท็จจริง ผลที่คาดหวังจะได้ก็จะไม่ได้.

ขอขอบคุณ ที่มาจาก https://www.thairath.co.th/news/local/1698380